
Holding Company คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง?
เจ้าของธุรกิจทุกคนล้วนไม่อยากสูญเสียทรัพย์สินที่หามาด้วยความยากลำบาก ซึ่งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆก็มีการพัฒนากลยุทธ์เพื่อช่วยในการปกป้องและบริหารทรัพย์สิน หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อไปถือหุ้นในบริษัทที่มีการประกอบกิจการ
การจัดตั้ง Holding Company เป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจครอบครัวมักที่จะใช้ในการวางแผนบริหารธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สินส่วนรวมของสมาชิกครอบครัว และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆหลังจากที่ภาครัฐเริ่มมีการจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีการให้
แม้กระทั่งบริษัท ที่เรารู้จักกันดีในตลาดหุ้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังลงทุนอยู่ใน Holding Company ซึ่งโฮลดิ้ง คือบริษัทที่ไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจแบบทั่วไป แต่เป็นบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่น (บริษัทลูก) อีกทีหนึ่ง เพื่อรอรับเงินปันผลจากกิจการเหล่านั้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นของโฮลดิ้งยังสามารถกำหนดนโยบายการบริหารงานของบริษัทลูกได้อีกด้วย เพราะมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทรัพย์สินอื่นๆที่สำคัญและมีมูลค่า เช่น เครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ หรือเครื่องหมายการค้า ก็สามารถนำมาเป็นทรัพย์สินเพื่อจัดตั้งเป็น Holding Company แล้วจึงปล่อยเช่าอุปกรณ์เครื่องจักร พื้นที่ทำออฟฟิศ หรือตราสินค้า ให้กับบริษัทลูกอื่นๆภายในโฮลดิ้งได้อีกด้วย
มีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากใช้ Holding Company เพื่อถือหุ้นในกิจการลูกที่ทำธุรกิจ โดยแบ่งธุรกิจแต่ละหน่วยให้กับลูกหลานเพื่อไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกันในที่เดียว วิธีนี้เป็นการป้องกันความขัดแย้งกันของคนในครอบครัว ซึ่งเมื่อบริษัทลูกมีผลกำไรก็ส่งเข้าโฮลดิ้ง เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมเงินกองกลางของครอบครัว

Holding Company สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรได้บ้าง ?
สินทรัพย์ที่ บริษัทโฮลดิ้ง สามารถเป็นเจ้าของได้นั้นมีความหลากหลายสูง ยกตัวอย่างเช่น
หุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการปัจจุบัน
หลักทรัพย์ เช่น หุ้นกู้ กองทุน ตราสารทางการเงินต่างๆ
ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์
อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
5 เหตุผลที่ควรจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง
1. Holding Company ช่วยลดภาระภาษีของธุรกิจคุณ
ในบริษัทจำกัดทั่วไปที่มีการประกอบกิจการ หรือบริษัทที่ทำธุรกิจของคุณ หลายท่านเปิดกิจการมานาน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีกำไรสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาที่บริษัทจำกัดจ่ายเป็นเงินปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น แน่นอนว่าต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 10%
แต่ถ้าหากมีการตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ดำเนินธุรกิจ จะทำให้สามารถถ่ายเงินออกโดยจ่ายเงินปันผลมาเก็บไว้ที่โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ( อ้างอิงตามมาตรา 65 ทวิ (10) นั้น ถือว่าเป็นการชะลอการจ่ายภาษีก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่มียอดขายต่อปีสูง
ในการยกเว้นภาษีจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
1) บริษัทโฮลดิ้งต้องถือหุ้นในบริษัทลูกมากกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง จึงจะได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
2) Holding Company ต้องถือหุ้นก่อนวันที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องถือต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากมีสิทธิได้รับเงินปันผล
3) บริษัทลูก ต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง (ไม่ถือหุ้นไขว้กัน)