top of page
บทความ: Blog2

สภาครอบครัว คืออะไร? ทำไมคนทำธุรกิจครอบครัวต้องตั้งสภาครอบครัว


สภาครอบครัว


สภาครอบครัวสำคัญอย่างไร


ธุรกิจครอบครัวถือเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือในระดับโลก เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีรากฐานการเติบโตมาจากธุรกิจที่เป็น Family Business เพื่อสืบทอดกิจการมากจากรุ่นสู่รุ่น และดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน อันเป็นผลเนื่องมาจากสมาชิกในครอบครัวนั้นมีความความรัก ความสามัคคีต่อกัน ผสานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจของครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้


จึงต้องมีการสร้างระบบอย่างเข้มแข็งชะลอปัญญาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต และเป็นข้อตกลงในการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยทางสมาชิกของครอบครัวแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคนกลางของครอบครัวที่เข้ามาช่วยสร้างระบบครอบครัวให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นโดยเรียกว่าระบบ “ สภาครอบครัว (Family Council) ” เป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัว เพื่อเข้ามากำกับดูแลสมาชิกในครอบครัว และธุรกิจภายในครอบครัว เพื่อถ่ายทอดคุณค่า วัฒนธรรม วิสัยทัศน์ และการวางแผนร่วมกัน


อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสสื่อสารกันมากขึ้น และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในครอบครัว ดำเนินการเป็นไปตามกฎระเบียบของครอบครัวที่วางไว้



สภาครอบครัวควรจัดตั้งเมื่อไหร่


เมื่อสมาชิกในครอบครัวเริ่มมีคนหลายช่วงอายุ และจำนวนสมาชิกในครอบครัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นมีการวางแผนให้สมาชิกในครอบครัวเริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ และเข้าบริหารงานในธุรกิจของครอบครัว พร้อมทั้งธุรกิจของครอบครัวเริ่มเติบโตมองเห็นภาพในระยะยาวในการขยายธุรกิจของครอบครัว


เพื่อเป็นการวางแผนล่วงหน้าจึงต้องสรรหาบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาดำเนินงานบริหารธุรกิจของครอบครัว และเข้ามาบริหารจัดการเรื่องภายในครอบครัวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในทุกๆด้าน อีกทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย


เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนจึงต้องมีการจัดตั้งสภาครอบครัว เพื่อเป็นคนกลางที่เข้าดูและจัดการในส่วนนี้ คนกลางมีหน้าที่เข้ามาดูแลบริหารธุรกิจของครอบครัว หรือเข้ามาบริหารจัดการเรื่องภายในครอบครัว เรื่องทรัพย์สินของครอบครัว


สร้างระบบในการสื่อสารของสมาชิกภายในครอบครัว ให้ทราบสร้างข้อกำหนดโครงสร้างในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว หรือการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว กระบวนการตัดสินใจ และบทบาทหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวจึงมีความสำคัญต่อไปซึ่งอาจไปกำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัว


สภาครอบครัวจัดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์อะไร


  • เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัว สื่อสารติดต่อกันได้ง่ายขึ้น

  • เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในครอบครัว ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

  • เพื่อสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว

  • เพื่อเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรม ให้ลูกหลานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก โดยเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์

  • เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไป และวางแนวทางการทำงานในอนาคต


สภาครอบครัวมีดีอย่างไร


  • ช่วยสร้างความสมานฉันท์ของครอบครัวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านระบบการประชุมของสภาครอบครัว

  • ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว

  • ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัวให้มีความรักใคร่ กลมเกลียวกัน

  • ช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาว และการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน

  • ช่วยกำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวในเรื่องการบริหารธุรกิจ หรือการบริหารจัดการภายในครอบครัว

  • ช่วยในการบริหารทรัพย์สินของครอบครัวให้มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้


หลักการทำงานของสภาครอบครัว และใครบ้างที่สามารถเข้าร่วมได้


การทำงานของสภาครอบครัวนั้นมาจากความเห็นชอบของคนในครอบครัวคัดเลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนของครอบครัว โดยมีการกำหนดคุณสมบัติ และผ่านการคัดเลือกจากสภาครอบครัว สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามาดำเนินงานในสภาครอบครัว การแต่งตั้งองค์คณะกรรมการสภาครอบครัวควรประกอบด้วย ประธาน คณะกรรมการ จำนวนองค์คณะมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกและขนาดของครอบครัว


แต่ในการแต่งตั้งสภาครอบครัวควรมีการตั้งกรรมการอิสระที่เป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว 1 หรือ 2 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะจากความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างจากสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ครอบครัวสูงสุด นอกจากนี้หัวใจสำคัญของการตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และความยุติธรรม


ขั้นตอนการจัดตั้งสภาครอบครัว


  1. กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของสภาครอบครัว และคณะกรรมการของสภาครอบครัวที่จะเข้าดูแลสมาชิกภายในครอบครัว

  2. กำหนดวิธีการลงคะแนนเสียงในวาระต่างๆ ของสภาครอบครัว

  3. กำหนดบทบาทหน้าที่ของสภาครอบครัว เช่น สวัสดิการของสมาชิกภายในครอบครัว การบริหารจัดการทรัพย์สินภายในครอบครัว

  4. กำหนดหลักในการลงมติของสภาครอบครัว

  5. กำหนดการประชุมใหญ่ หรือการประชุมวาระต่างๆ ของครอบครัว

  6. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสภาครอบครัว หรือการลาออกของสมาชิกสภาครอบครัว