top of page
บทความ: Blog2

ทำไมครอบครัวที่ทำธุรกิจ ถึงขาดธรรมนูญครอบครัวไม่ได้?

อัปเดตเมื่อ 5 ก.ย. 2563






ปัญหาคลาสสิกที่ธุรกิจครอบครัวมักจะพบเจอ เช่น การแบ่งทรัพย์สินที่ไม่มีความเท่าเทียม หรือไม่มีความเป็นธรรมต่อสมาชิกในครอบครัว ตัวอย่างกรณีสมาชิกทุ่มเทให้กับการทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวไม่เท่ากันแต่กลับได้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนที่เท่ากัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจสะสมกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต ดังนั้นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ว่ามานี้นั่นคือ “ธรรมนูญครอบครัว”

ความหมายของธรรมนูญครอบครัวไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่คือกฎบ้าน สำหรับแต่ละครอบครัวใช้เป็นข้อตกลง หรือกติกาที่ทุกคนในครอบครัวรับรู้ และยอมปฏิบัติตามในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะการเข้ามาทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแต่มีเอกสารบางฉบับที่สามารถทำให้มีผลบังคับตามกฎหมายได้

สรุปสั้นๆง่ายๆได้ว่า“ธรรมนูญครอบครัว” คือ กฎ กติกาในการอยู่ร่วมกันรวมไปถึงการทำธุรกิจร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว

6 เรื่องพื้นฐานที่ควรกำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัว ได้แก่


1. ควรมีการแยกทรัพย์สินส่วนกลาง หรือส่วนรวมของครอบครัวออกมาก่อน เช่น อสังหาริมทรัพย์ แบรนด์เครื่องหมายการค้า เป็นต้น เพื่อทำข้อตกลงในการบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกัน เพราะทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง


2. การสร้างข้อตกลงในการเข้ามาทำงานร่วมกันในบริษัทซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว

ข้อตกลงในการจ่ายผลตอบแทน ผลประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ


3. ข้อตกลงเรื่องกงสี การให้สวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานในครอบครัว หรือเคยทำงานในธุรกิจครอบครัว เช่น ค่าเล่าเรียนของลูกหลาน สวัสดิการ รวมถึงแต๊ะเอีย หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวว่าจะกำหนดและตกลงกันอย่างไร


4. การส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการสืบสานธุรกิจให้ยั่งยืน แนะนำให้ผู้ทำธรรมนูญครอบครัวจัดทำพินัยกรรมระดับครอบครัว เป็นการส่งต่อให้กับทายาทตามสายที่เรากำหนดไว้


5. การสร้างกระบวนการสื่อสาร และสร้างความปรองดองในครอบครัว ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลข่าวสาร การจัดกิจกรรมสันทนาการ รวมไปถึงการประชุมแบบเป็นทางการ


6. ข้อห้ามไม่ให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติ หากฝ่าฝืนควรมีการกำหนดบทลงโทษ

สำหรับผู้ที่สนใจทำธรรมนูญครอบครัว มีขั้นตอนในการทำเบื้องต้นดังนี้


เริ่มจากการประชุมในกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัวนั้น ๆ อาจจะมีสมาชิกตั้งแต่ 3 - 5 คนขึ้นไป ตั้งคณะทำงานหรือกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่การเชิญประชุมเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามาร่วมรับทราบ และรับฟังรวมถึงแสดงความคิดเห็น


การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้แสดงความคิดเห็นและ ลงมติในแต่ละเรื่องที่จะทำความตกลงร่วมกัน การลงมติโดยใช้การลงมติแบบเป็นเอกฉันท์เป็นหลัก โดยจะไม่ใช้การโหวตเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจก่อตัวขึ้นในอนาคต


ดังนั้นเมื่อมีข้อขัดแย้งหรือมีความเห็นที่ไม่ตรงกันต้องใช้การโน้มน้าว และถอยคนละก้าวเพื่อหาจุดที่สมาชิกทุกคนรับได้ เมื่อเป็นเอกฉันท์แล้วค่อยมาจัดทำข้อตกลงในแต่ละเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้นจัดทำเป็นเอกสาร เป็นรูปเล่ม หลังจากนั้นก็สามารถประกาศใช้เป็นธรรมนูญของครอบครัวได้


ในกรณีเกิดเหตุที่ความเห็นที่ไม่ลงตัว หรือเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ในการหาจุดลงตัวหรือจุดกลางมีวิธีหรือเทคนิคในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ควรใช้คนกลางที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียในครอบครัวมาเป็นผู้โน้มน้าวให้แต่ละฝ่าย มีทางออก หรือทางถอยเพื่อให้เจอจุดที่สมาชิกทุกคนยอมรับ


สำหรับโอกาสหรือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำธรรมนูญครอบครัวนั้น บอกได้เลยว่าถ้าคุณมีธุรกิจครอบครัวและมีลูกหลานที่ต้องการส่งต่อสิ่งที่สร้างมาให้กับพวกเขาอย่ารอให้มีปัญหาแล้วค่อยทำ ให้ทำในขณะที่ครอบครัวยังปรองดองกันอยู่ เพราะจะง่ายต่อการทำความตกลง ถ้าครอบครัวอยู่ร่วมกันโดยไม่มีกติกาหรือบรรทัดฐานเปรียบเสมือนคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมจำนวนมากแต่ไร้ซึ่งกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับใด ๆ จะทำให้เกิดความร้าวฉาน หรือเกิดข้อพาทได้โดยง่าย


“อะไรก็ไม่สำคัญเท่าความสัมพันธ์ในครอบครัว” เพราะความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัวนับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการทำธุรกิจครอบครัว

ทั้งหมดที่กล่าวมนี้ คือ ธรรมนูญครอบครัว หรือเครื่องมือที่ช่วยป้องกันความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว